ท่านวิทิต ลาวัลย์เสถียร คหบดีแห่งจังหวัดระยองได้กล่าวมาในข้อเขียนวันที่นักศึกษามาทำวิทยานิพนธ์ว่า“ผมมองว่าการที่รุ่นแรกประสบความสำเร็จ 100% ก็เพราะเป็นรุ่นที่ต้องเรียนรู้กับความจริงใช้ประสบการณ์ในชีวิตค่อยๆสร้างธุรกิจขึ้นมาล้มบ้างลุกบ้างแต่ก็ได้แก้ไขลองผิดลองถูกมาเรื่อยจึงประสบความสำเร็จเสร็จ”
แง่คิดมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวที่มีปัญหาไม่ยั่งยืน
เมื่อวานมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากนักศึกษาที่กำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องของธุรกิจครอบครัวที่มักเสื่อมสลายเมื่อผ่านมาถึงรุ่นสองรุ่นสามรุ่นสี่ โดยติดต่อขอมาสัมภาษณ์ตั้งคำถามกับผมว่าในฐานะที่เป็นบริษัท ที่เริ่มจากธุรกิจครอบครัวสู่การเป็นมหาชน เธอได้ไปขอทำงานนี้โดยผ่านมาจากตลาดหลักทรัพย์ ก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงได้รับคำแนะนำให้มาสัมภาษณ์ผม แต่เผอิญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยากเผยแพร่ เพราะสิ่งที่เคยศึกษามาน่าจะเป็นคำตอบที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เพราะเราเองได้เป็นคนที่เคยผ่านปัญหานี้ด้วยตัวเอง แล้วก็ได้ข้อคิดว่าทำไมอัตราการเสื่อมสลายในธุรกิจครอบครัวจึงเกิดขึ้นกับแทบจะทุกครอบครัวของนักธุรกิจที่มักจะยิ่งใหญ่ในยุคแรกๆ แล้วค่อยๆเสื่อมสลายเมื่อถึงรุ่นลูกหลาน มีน้อยมากที่สามารถยืนระยะได้ยั่งยืน เมื่อถูกส่งคำถามมาเพื่อขอสัมภาษณ์ เห็นหัวข้อแล้วถูกใจเลยตอบให้สัมภาษณ์ทันที
เขาตั้งคำถามมาว่าจากตัวเลขสถิติจะเห็นได้ว่าธุรกิจครอบครัวในรุ่นแรกมักจะประสบความสำเร็จ 100% พอถึงรุ่นที่ 2 จะเหลือไม่เกิน 30% ที่อยู่รอด แล้วพอถึงรุ่นที่ 3 ก็จะเหลือไม่เกิน 13% พอถึงรุ่นที่ 4 ก็มักจะสูญสลายหรือที่มีเหลือก็ไม่เกิน3%เขาตั้งคำถามมาว่าจะทำอย่างไรให้สามารถยืนระยะได้อย่างยั่งยืน
คำถามที่ 2 ถามว่าธุรกิจของท่านวางแผนการสืบทอดอย่างไร
คำถามที่ 3 บอกว่าแล้วสำหรับสตาร์มันนี่ได้วางแผนการในการรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร
คำถามที่ 4 แล้วสตาร์มันนี่จะมีหลักคิดและหาทางแก้ปัญหานี้อย่างไร
ผมให้สัมภาษณ์เขาไปว่าคำถามที่ถามมาทั้งหมด 4 ข้อ ผมขอตอบทั้งหมดดังนี้ บอกเขาไปว่าเรื่องนี้มีการสัมมนากันหลายครั้ง แล้วผลของการสัมมนาออกมาส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเป็นเพราะระบบที่วางเอาไว้ไม่ดีพอ แล้วก็มักจะมีข้อสรุปว่าเป็นเพราะขาดธรรมนูญครอบครัว เลยไม่สามารถยืนระยะให้เกิดความมั่นคงตลอดไปได้ในมุมมองของผม มองว่าผลที่วิจัยออกมานั้นมีเพียงแค่บางส่วนที่ใกล้เคียงความเป็นจริง แต่สิ่งที่เป็นความจริงในมุมมองของผมคือ
ผมมองว่าการที่รุ่นแรกประสบความสำเร็จ 100% ก็เพราะเป็นรุ่นที่ต้องเรียนรู้กับความจริงใช้ประสบการณ์ในชีวิตค่อยๆสร้างธุรกิจขึ้นมาล้มบ้างลุกบ้างแต่ก็ได้แก้ไขลองผิดลองถูกมาเรื่อยจึงประสบความสำเร็จเสร็จแล้วก็วางแผนให้รุ่นต่อไปที่จะเข้ามาสานต่อโดยการส่งเสียให้ลูกหลานไปศึกษาที่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่เพื่อเรียนรู้ทางด้านวิชาการ โดยลืมมองไปว่าควรให้เขามีโอกาสที่จะได้ศึกษาหรือเรียนรู้จากธุรกิจของตัวเองส่วนหนึ่งสุดท้ายสิ่งที่เด็กๆศึกษามา แทนที่จะเอาเรื่องของวิชาการเข้ามาส่งเสริมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดโดยเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย กลับกลายเป็นว่าเชื่อมต่อกันไม่ติดคนรุ่นใหม่จะมองว่างานที่คนรุ่นเก่าทำมานั้นโบราณไม่ทันกับยุคสมัย แล้วคิดว่าต้องผ่าตัดเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด นั่นเป็นเพราะมุมมองที่ถูกย้อมให้เชื่อว่าต้องทันสมัยต้องเข้ากับยุค แต่หารู้ไม่ว่าเมื่อไม่มีฐานความรู้เกี่ยวกับธุรกิจมันจึงไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ แล้วยิ่งพอไปถึงรุ่นต่อๆไปซึ่งแทบจะไม่เหลือความรู้ในเชิงธุรกิจแล้ว มันจึงเสื่อมตามไปอย่างที่เขาตั้งข้อสังเกตเอาไว้
แต่ก็ยังไม่ใช่เหตุผลนี้ทั้งหมดที่จริงยังมีเรื่องอื่นปะปนมาด้วยผมบอกเขาว่าการสร้างธรรมนูญครอบครัวถึงแม้จะมีความจำเป็น แต่สิ่งที่ต้องปลูกฝังให้สำคัญมากกว่าธรรมนูญครอบครัวคือการสอนลูกหลานให้มีคุณธรรมให้รู้จักการยอมรับสิ่งที่ผิดสิ่งที่ถูก ถ้าคนรุ่นหลังไม่มีคุณธรรมเหล่านี้ธรรมนูญครอบครัวก็ไม่มีความหมายอะไร กฏต่างๆก็เป็นเพียงแค่เหมือนกฎหมาย ถ้าผู้คนไม่ยอมรับแล้วไม่ทำตาม กฏจะมีความหมายอะไร เรื่องเหล่านี้คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดแต่ก็ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากเช่นกันก็คือการเอาคนขึ้นมารับผิดชอบในแต่ละรุ่นไม่ใช่แค่จมปลักอยู่กับคำว่าอาวุโส แต่ต้องมองว่าควรจะวางคนไว้อย่างไรให้ เหมาะสม ควรดูว่าลูกหลานในแต่ละรุ่นมีใครที่มีวิสัยทัศน์ดี แล้วก็มีโลกทัศน์ที่ดีด้วย เอาคนเช่นนี้ขึ้นมาเป็นผู้นำขององค์กร ในขณะที่คนที่ไม่เก่ง ก็ให้เขาเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นกรรมการ คอยมีส่วนรับผิดชอบก็จะเข้าข่ายครบองค์ ประกอบที่จะทำให้สามารถยืนอยู่ได้ในแต่ละรุ่นแล้วดีขึ้นๆสุดท้ายก็เลยให้ข้อสรุปกับเขาไปว่า ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องให้ทุกคนได้มีส่วนเรียนรู้กับธุรกิจแล้วปลูกฝังคุณธรรมความดีให้เกิดในจิตใจของทุกคนในครอบครัว ตรงนั้นจะทำให้ลดความขัดแย้งแล้วจะเป็นตัวแก้เรื่องลำดับความอาวุโส ที่สำคัญก็คือต้องสอนให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ ความอาวุโสมีไว้ให้คนในครอบครัวเคารพ คนเก่งมีไว้เพื่อให้เป็นผู้จัดการถ้าดำเนินการในรูปแบบอย่างนี้ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้น
บทสุดท้ายในการให้สัมภาษณ์ผมบอกเขาไปว่า คำถามทุกคำถามผมตอบรวมไปหมดแล้ว คงไม่ต้องให้ผมบอกว่าแนวทางของสตาร์มันนี่จะดำเนินไปอย่างไร เพราะคำตอบมันอยู่ในคำสัมภาษณ์ของผมหมดแล้ว
แล้วท้ายที่สุดวันนี้ที่ผมเอาเรื่องนี้มาถ่ายทอดลงในข้อเขียนผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่มีประโยชน์มากที่สุดที่ควรจะเป็นวิทยาทานได้ แล้วมันมีค่าพอ ที่จะให้หลายๆครอบครัวนำไปศึกษาแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ แต่อย่าลืมที่จะเปลี่ยนระบบธุรกิจครอบครัวจากกงษีมาเป็นรูปแบบบริษัท มันถึงจะสมบูรณ์แบบ เรียกว่าวางระบบให้ดี แล้วหาคนเข้าควบคุมให้เหมาะสม ที่สำคัญต้องให้ลูกหลานเข้าใจในสถานการณ์และความเป็นจริงไม่ใช่ยืนกันอยู่บนความเพ้อฝันทุกอย่างจึงจะเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จยั่งยืน
ถ่ายทอดโดยวิทิตลาวัณย์เสถียร
29 พฤษภาคม 2567