วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 26, 2024
Uncategorized

ธุรกิจเป็นเรื่องที่หาความเมตตาและความถูกต้องไม่เจอ เพราะทุกฝ่ายต้องการเป้าหมายนั่นคือชัยชนะของความร่ำรวยหรือความสำเร็จจึงก่อให้เกิดการแก่งแย่งชิงดี​ โดยไม่มีหลักของศีลธรรมสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้เมื่อสองพันกว่าปีก่อน อ่านข้อเขียนของท่านวิทิต ลาวัลย์เสถียร วันนี้ให้จบแล้วจะทราบว่า การทำธุรกิจบนชีวิตมนุษย์เขาทำกันอย่างไร

มาตรฐานชีวิตของผู้คนเอาอะไรมาวัด

ในโลกนี้ทุกเรื่องที่เป็นเป้าหมายให้ผู้คนต้องการชัยชนะ ส่วนใหญ่จะไม่เลือกวิธีใช้ความซื่อสัตย์บนโลกใบนี้จึงแทบหาไม่เจอ เกือบทุกเรื่องถ้าเป้าหมายคือการชนะหรือไปสู่ความสำเร็จ ผู้คนจะไม่มีการคิดถึงความเอื้อเฟื้อระหว่างกัน คุณธรรมระหว่างผู้คนนับเป็นเรื่องที่หายากยิ่ง เพราะเหตุนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองเรื่องนโยบายระหว่างประเทศ เรื่องธุรกิจจึงกลายเป็นเรื่องที่หาความเมตตาและความถูกต้องไม่เจอ เพราะทุกฝ่ายต้องการเป้าหมายคือชัยชนะความร่ำรวยหรือความสำเร็จจึงก่อให้เกิดการแก่งแย่งชิงดี​ โดยไม่มีหลักของศีลธรรมสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้เมื่อสองพันกว่าปีก่อน จึงค่อยๆเสื่อมลงเพราะสู้กับกิเลสในจิตใจมนุษย์ไม่ได้ แม้ผู้คนส่วนหนึ่งจะเข้าถึงหลักของพระพุทธศาสนาว่าชีวิตนี้สุดท้ายเมื่อตอนตายก็ว่างเปล่า แต่ถึงแม้ทุกคนจะรู้สัจธรรมชีวิตแบบนี้ ก็มีคนส่วนน้อยถึงน้อยที่สุดที่จะยอมรับความจริงเหล่านี้ คนส่วนใหญ่ยังลุ่มหลงอยู่กับความงมงายต่อทุกสรรพสิ่ง

ระบบมือยาวสาวได้สาวเอาประกอบกับสติปัญญาที่ฉลาดแบบเจ้าเล่ห์ จึงถูกผู้คนเอาไปใช้ในทางที่ผิดไปติดอยู่กับกลโกง เราจึงเห็นหลักคิดที่เริ่มต้นด้วยความรู้สึกที่น่าจะเรียกว่าดี นั่นคือระบบที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าคนคิดระบบนี้ขึ้นมาคงมีเจตนาที่อยากให้คนทุกคนมีสิทธิ์มีเสรีในด้านการใช้ชีวิตโดยไม่ถูกแบ่งแยก แต่สุดท้ายก็กลับกลายเป็นถูกนำไปใช้ในทางผิด สารพัดความวุ่นวายบนโลกใบนี้จึงถูกกระพือฮือโหมให้มันยิ่งรุนแรงมากขึ้น จนลุกลามไปถึงธรรมชาติแล้วสุดท้ายจุดหมายก็คือกลับมาตกสู่สัตว์โลกทั้งหลาย และนี่จึงเป็นต้นเหตุที่อยากจะเขียนถึงในวันนี้ เรื่องที่เขียน ล้วนแล้วแต่มาจากต้นเหตุของความโลภโมโทสัน​ ความต้องการชัยชนะ หรือสรุปง่ายๆก็คือกระสันในกิเลสอย่างไม่สิ้นสุดซึ่งก็คงต้องว่ากันเป็นตอนๆ

วันนี้จะเลือกเรื่องแรกที่จะเขียนถึงคือเรื่องที่ทุกชีวิตต้องประสบพบเจอเกี่ยวกับคำว่าสุขภาพ ดังที่รู้กันอยู่ว่ามนุษย์ทุกคนนั้น สุดท้ายแล้วพออายุมากขึ้น สุขภาพและพลานามัยก็จะเริ่มเสื่อมลงตามธรรมชาติ​ จึงมีการพัฒนาทางการแพทย์การรักษาที่เจริญขึ้น แต่สุดท้ายก็มีการนำเอาสิ่งที่จะช่วยชีวิตผู้คนมาแสวงผลประโยชน์กันอย่างน่าเกลียดและน่าสะอิดสะเอียน เราจึงเห็นการนำวิชาชีพที่คิดว่าน่าจะมีเจตนาจากการช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกันให้กลับกลายเป็นสิ่งที่แสวงผลประโยชน์อย่างไร้ซึ่งศีลธรรม ที่จะเขียนถึงมีสองเรื่องที่เราเห็นกันชัดเจนอยู่ในสังคมทุกวันนี้ ด้านหนึ่งเราเห็นฝ่ายการเมืองนำเรื่องนี้มากำหนดเป็นนโยบาย ความจริงถ้าเป็น เรื่องที่เกิดจากความรับผิดชอบในการบริหาร ก็ถือเป็นเรื่องดีงามแต่เพื่อเป้าหมายเพื่อต้องการชัยชนะหรือให้เป็นที่พึงใจของผู้คน เรื่องนี้กลับถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด โดยกำหนดให้ผู้คนแทบจะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพื่อหวังผลทางด้านความนิยม เมื่อจุดหมายถูกเบี่ยงเบนไปใช้ในทางที่ผิด มันจึงเหมือนกับเป็นการจำกัดชนชั้น คือพูดง่ายๆคนที่ไม่มีเงิน ก็จะต้องเดินทางเข้าไปในเส้นทางนี้ ทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการเพราะบางโรคที่ต้องใช้ยาที่มีราคาแพงจากต่างประเทศก็ไม่มีในสถานพยาบาลของรัฐ ทำไมเราไม่ทำให้มาตรฐานของการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐสูงขึ้นโดยความเป็นจริงแล้วให้ผู้คนยอมรับความจริงจ่ายค่าบริการแต่ละครั้งไม่ต้องสูงนัก แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐแล้วได้มาตรฐานการรักษาที่ถูกต้อง ถ้าหันมาเก็บเงินครั้งละ 100 หรือ 200 บาทผมว่าผู้คนก็คงพอจ่ายได้เพราะเวลาที่เขาไปหา

สถานบริการตามคลินิกแต่ละคนก็ต้องจ่ายกันไม่มีต่ำกว่า 100-200 บาทก็เห็นผู้คนไปใช้บริการกันเต็มเกือบทุกที่ นั่นก็บ่งบอกชัดเจนว่าบริการที่มีอยู่ในสถานบริการของรัฐยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด

แล้วถ้ายิ่งเอาไปเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลของเอกชนที่นำการลงทุนทางด้านสุขภาพ มาแสวงผลประโยชน์กันอย่างผิดวัตถุประสงค์ในด้านวิชาชีพ อาชีพที่ควรจะเป็นอาชีพที่คำนึงถึงความเจ็บป่วยของผู้คนถูกชั้นเชิงทางธุรกิจเข้ามาชักนำจนกลายเป็นการหาผลประโยชน์กันแบบไม่คำนึงถึงศีลธรรม แน่นอนว่าสำหรับคนที่มีฐานะร่ำรวยเขาสามารถจ่ายได้กับค่ารักษาพยาบาลที่ราคาสูงเกินความเป็นจริงหลาย 10 เท่า แต่ก็มีผู้คนในระดับกลางๆที่บางคนหาเงินมาทั้งชีวิตก็ต้องขุดเอาเงินสะสมที่พอจะมีเอาไว้กินบั้นปลายชีวิตมาจ่ายให้กับสถานพยาบาลเหล่านี้ เพราะความไม่ไว้ใจต่อสถานพยาบาลของภาครัฐมันจึงกลายเป็นเรื่องที่ผมอยากจะพูดถึงมากที่สุด ถ้าภาครัฐยอมรับความจริง เก็บค่ารักษาที่พอไม่ให้ผู้คนเดือดร้อนแต่รักษาได้จริงผู้คนก็สามารถพึ่งพาบริการได้ ถึงตรงนั้นจะเป็นการคัดกรองอย่างชัดเจนว่าสำหรับคนที่มีฐานะร่ำรวยอยากจะไปใช้บริการในโรงพยาบาลของเอกชนก็เป็นเรื่องของเขาถือว่าเป็นความพึงพอใจส่วนตัวเป็นทางเลือกของผู้คนกลุ่มหนึ่ง แล้วถ้าการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐมีความน่าเชื่อถือได้จริงก็สามารถทำให้ในโรงพยาบาลของรัฐ เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างถูกต้อง ผู้คนที่ต้องเสียเงินจ่ายภาษีของรัฐจะรู้สึกได้ถึงความสุขกับการชำระเงินให้รัฐ ก็จะเกิดความถูกต้องและเป็นเรื่องที่สมควรเงินที่ประชาชนสละหยาดเหงื่อเพื่อเสียภาษีจะได้ดูมีคุณค่าและความหมาย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่าบนโลกนี้ควรมีมากที่สุดคือความซื่อสัตย์ ถ้าไม่มีความซื่อสัตย์จะถูกเอาไปหาประโยชน์กันในทางที่ผิดๆได้

สรุปที่เอาเรื่องนี้มาเขียนเป็นเรื่องแรก เพราะเป็นมุมที่ไม่ค่อยมีใครมาเขียนถึง ผมเชื่อว่าคนที่เจ็บปวดกับการใช้บริการที่ไม่น่าเชื่อถือก็มีอยู่ไม่น้อย ในขณะเดียวกันผู้คนที่ยอมสละเงินมาก ไปใช้บริการอีกด้านหนึ่ง ก็คงเคยรู้สึกกันเกือบทุกคนว่าเหมือนถูกปล้นผมนึกถึงตัวผมเองถ้าถือว่าเป็นคนมีฐานะที่ดีหรือไม่ ก็คงจัดอยู่ในระดับบนของประเทศนี้แต่เวลาไปใช้บริการในแต่ละครั้งก็รู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งไปกับการเก็บค่ารักษาแบบปล้นกันชัดๆ เชื่อหรือไม่ว่าค่ายานั้นขึ้นได้ทุกครั้ง งวดละ 15 ถึง 20 เปอร์เซ็นในขณะที่ค่าบริการอื่นๆ ก็ขึ้นกันแบบไม่ต้องคิดถึงความเป็นจริงค่าบริการเจาะเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคก็ยังขึ้นราคาทุกครั้งแล้วก็ขึ้นแบบน่าเกลียดแรกๆของการไปรักษาเจาะเลือดแต่ละครั้งอยู่ที่ 7-8 พันบาทแต่ตอนนี้กลายเป็นครั้งละเกือบ 20,000 บาท ในขณะที่เวลาผมอยู่ต่างจังหวัดแล้วใช้บริการของแล็บเอกชนถึงแม้จะเจาะน้อยกว่านิดหน่อยอาจมีการวินิจฉัยไม่เกิน 6-7 ตัว ราคาจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 700 บาทเอาเป็นว่าถ้าเจาะเต็มรูปแบบก็ไม่น่าจะถึง 1,000 ลองเปรียบเทียบกันดูระหว่าง 20,000 กับ 1,000 มัน 20 เท่าเชียวนะครับ แล้วยิ่งค่ายาที่ขึ้นทุกงวดทุกคนคงแปลกใจว่าทำไมไม่ไปหาซื้อที่อื่น ก็เพราะยาที่โรงพยาบาลชั้นนำใช้ส่วนหนื่งคือยาที่ไม่มีขายในท้องตลาด ต้องนำเข้าจากต่างประเทศโดยตรงจึงต้องทนยอมรับความไม่ถูกต้องเหล่านี้แบบไม่มีทางเลือก แล้วก็ได้แต่คิดว่า นี่แหละคือความฉ้อฉลที่ไม่เลือกวิธีใช้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มนุษย์ด้วยกันใช้ความตายมาหากิน นี่คือสิ่งที่อยากพูดถึงถ้าภาครัฐจัดการได้อย่างถูกต้อง ภาคเอกชนก็คงหาประโยชน์ไม่ได้เท่านี้ แล้วก็อย่าคิดว่ามันจะเป็นแค่เมืองไทยไม่เชื่อก็ลองไปดูในโรงพยาบาลเอกชนมีคนต่างชาติมาใช้บริการมากกว่าคนไทยอีก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *