วันจันทร์, ธันวาคม 23, 2024
Uncategorized

มจธ. ผนึกกำลังกรมชลประทาน ปลดล็อกปัญหาดินเค็ม-ดินไม่อุ้มน้ำภาคอีสานด้วย ‘ไบโอซีเมนต์’

ปัญหาดินเค็มและดินไม่อุ้มน้ำถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เนื่องจากเมื่อหลายล้านปีก่อนพื้นที่นี้เคยเป็นทะเล ทำให้มีชั้นหินเกลือแทรกในชั้นน้ำใต้ดิน และพื้นที่เป็นดินทราย ซึ่งเก็บกักน้ำและสารอาหารได้น้อย ในฤดูฝน น้ำฝนจะซึมลงดินอย่างรวดเร็ว ในฤดูแล้ง น้ำใต้ดินจะไหลขึ้นผ่านช่องว่างของเม็ดดิน แล้วเกิดผลึกเกลือที่ผิวหน้าของดิน ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชเป็นไปได้ยากลำบาก จึงเป็นโจทย์สำคัญที่สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดทำโครงการ “การศึกษาแนวทางการหน่วงน้ำในนาข้าวของพื้นที่ชลประทานด้วยการประยุกต์ใช้ไบโอซีเมนต์” ขึ้น มาขยายผลสู่การแก้ปัญหาปัญหาความเค็มของดินในนาข้าว และการบริหารจัดการน้ำในแปลงนาที่ประสบปัญหาดินเค็ม โดยทดลองนำร่องในพื้นที่แปลงนา ณ สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง) ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยวัสดุชีวภาพอัจฉริยะและเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า ไบโอซีเมนต์ (Bio Cement) เป็นปูนซีเมนต์ที่เกิดจากจุลินทรีย์กลุ่มที่สร้างหินปูน โดยคัดเลือกจุลินทรีย์มาจากกากน้ำปลา เพื่อสร้างซีเมนต์ที่สามารถทนต่อความเค็ม และซ่อมแซมตัวเองได้ ผสมผสานกับการสร้างจีโอโพลิเมอร์ จะได้ปูนที่มีความแข็งแกร่ง และหน่วงน้ำได้ วัสดุไบโอซีเมนต์จะสามารถหน่วงน้ำฝนในฤดูฝน และลดการแทรกของเกลือในฤดูแล้ง ที่อาจจะใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำและการป้องกันความเค็มที่เกิดจากชั้นน้ำใต้ดิน


“การผลิตแผ่นไบโอซีเมนต์ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัทเอกชนในพื้นที่ ประกอบด้วย “เปลือกไข่” ที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากโรงฟักไก่ของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิและนครราชสีมา ผสมรวมกับ“กากแร่” ที่เป็นหินอัคนีที่มีแร่สำคัญอย่างซิลิกา และอลูมินา จากบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยผสมวัสดุประสานกับสารละลายจุลินทรีย์ ทำให้ได้ไบโอซีเมนต์ที่มีโครงสร้างของสารประกอบ แคลเซียม-อลูมินา-ซิลิกา ที่มีความทนทานต่อการกัดกร่อนของเกลือ และสามารถซ่อมแซมตนเองได้ เมื่อเกิดรอยแตกขนาดจิ๋ว (Micro Cracks) โดยจุลินทรีย์จะสร้างผลึกสีขาวของแคลเซียมคาร์บอเนตเพื่อปิดรอยแตกนั้น สามารถนำมาทดแทนแผ่นซีเมนต์แบบเดิมหรือแผ่นพลาสติก HDPE ที่นิยมใช้ในการกักเก็บน้ำในดิน ซึ่งมีแนวโน้มจะเสื่อมสภาพและเกิดปัญหาไมโครพลาสติกสะสมในดิน

ผศ.ดร.ธิดารัตน์ กล่าวว่า “หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ไบโอซีเมนต์ที่ได้จะพัฒนาสูตรให้สามารถใช้กับเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่จะนำไปผลิตปะการังเทียม หรือพัฒนาเป็นไบโอคอนกรีต ที่อาจถูกนำไปใช้ในงานก่อสร้างเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ ไบโอซีเมนต์อาจจะมีการฉาบผิวหน้าด้วยแมงกานีส และสังกะสี เพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากบ้านเรือน ซึ่งจะเป็นการหมุนเวียนน้ำทิ้งไปใช้ในการเกษตร เมื่อเกิดการขาดแคลนน้ำ”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *