วันจันทร์, ธันวาคม 23, 2024
Uncategorized

สกลนคร ผู้ว่าฯร่วมงานสืบสานประเพณีกวนข้าวทิพย์ และตักบาตรเทโวโรหณะ เนื่องในวันออกพรรษา พ.ศ. 2567  ณ วัดพระธาตุภูเพ็ก  อ.พรรณานิคม  

วันนี้ (18  ตุลาคม 2567) นายชูศักดิ์  รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ พุทธศักราช 2567 ณ บริเวณปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร  โดยมี นายยรรยง  พรมศร นายอำเภอพรรณานิคม นายสุรชัย ศักดิ์สัมฤทธิ์  รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร  นางพันใบ คุณบุราณ รองนายกเทศมนตรีตำบลนาหัวบ่อ ในนามของผู้จัดงาน  สภาวัฒนธรรมตำบลนาหัวบ่อ  กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร  และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก     โดยได้กำหนดจัดบุญประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี   ถือเป็นประเพณีสำคัญในรอบปีที่ชาวตำบลนาหัวบ่อได้ร่วมสืบสาน ถือปฏิบัติสืบกันมา และมีอัตลักษณ์พิเศษคือ ปราสาทพระธาตุภูเพ็กที่ตั้งบนภูเขาที่สูง ซึ่งเป็นการจำลองภาพในครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้า ไปเทศนาแสดงธรรมโปรดแด่พุทธมารดา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสด็จลงมายังเทวโลก พุทธศาสนิกชนทราบข่าวการเสด็จกลับลงมาจากดาวดึงส์ จึงพากันไปเข้าเฝ้าฯ รอที่เชิงบันไดเพื่อถวายบาตร แด่พระสงฆ์กันอย่างเนื่องแน่น 

ซึ่งก่อนถึงวันตักบาตรเทโวโรหณะ  ชาวตำบลนาหัวบ่อพร้อมใจกันกวนข้าวทิพย์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เทิดทูนพระเกียรติคุณด้วยความกตัญญูกตเวทิตาธรรมข้าวทิพย์เชื่อกันว่า เมื่อทำครบถ้วนตามพิธีแล้ว จะเป็นสิริมงคล แด่ผู้ทำและผู้บริโภค ข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส ทำมาจากสิ่งต่าง ๆ เช่น กะทิ ถั่วลิสง งาคั่ว ถั่วเขียว ข้าวตอก ข้าวเม่าอ่อน นม เนย น้ำนมแมว น้ำตาลทราย ใบเตย ต้นข้าวกำลังตั้งท้อง 3  เดือน เป็นประเพณีที่ชาวตำบลนาหัวบ่อสืบสานรักษาไว้  

โอกาสนี้ นายชูศักดิ์  รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร  ได้กล่าวชื่นชมหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่เห็นความสำคัญของงานประเพณีของท้องถิ่น นำไปสู่การสืบสานประเพณีที่ดีงามของจังหวัดสกลนคร  ซึ่งเป็นดินแดนแห่งธรรมะ ในห้วงวันออกพรรษาชาวตำบลนาหัวบ่อ ร่วมแรงร่วมใจมากวนข้าวทิพย์บริเวณวัดพระธาตุภูเพ็ก นอกจากถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังก่อให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน สำหรับพิธีตักบาตรเทโวโรหณะครั้งนี้  เป็นครั้งที่สอง ที่มีการจัดบนปราสาทพระธาตุภูเพ็กโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  เพิ่มความเป็นอัตลักษณ์ของการตักบาตรเทโวโรหณะ    และเป็นประเพณีท้องถิ่นที่จะเป็นแหล่งดึงดูดผู้ที่สนใจ นักท่องเที่ยว และนักแสวงบุญที่ต้องการมาร่วมในพิธีใส่บาตร  บนดินแดนที่มีความเชื่อของขอมโบราณว่าเป็นเขาพระสุเมรุ และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อไป    

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *