วันจันทร์, ธันวาคม 23, 2024
ข่าวทั่วไป

รัฐบาลไทย-พระเถระชั้นผู้ใหญ่อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากจีนเปิดให้ประชาชนสักการะ ณ ท้องสนามหลวงหลัง “รมต.ชูศักดิ์ ศิรินิล” ลงนามเอ็มโอยู ถึงไทยแล้ว

 รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “ดร.นิยม เวชกามา”  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในนามคณะรัฐบาลไทย และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของไทย เดินทางถึงกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมลงนามหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการจัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ณ ท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 รวม 73 วัน 

รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล กล่าวว่า การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวครั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อให้ประชาชนได้กราบสักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมทั้งเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ในปี 2568 ด้วย  ทั้งนี้ ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ลงนามฝ่ายจีน คือ นายเฉิน รุ่ยเฟิง รัฐมนตรีประจำสำนักกิจการศาสนาแห่งชาติ จากนั้น วันที่ 4 ธันวาคม 2567 เครื่องบินพิเศษอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จะเดินทางถึง ประเทศไทย ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 เวลาประมาณ 13.00 น.

 จากนั้นรัฐบาลได้จัดให้มีริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 17.00 น. จากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ไปยังท้องสนามหลวง และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะ ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 กำหนดเวลาตั้งแต่ 07.00 – 20.00 น. โดยเจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมดอกไม้สักการะสำหรับให้ประชาชน โดยไม่ต้องนำมาเอง และอัญเชิญกลับในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568

พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่วัดหลิงกวง ประดิษฐานอยู่ภายในพระสถูปทองคำประดับอัญมณี องค์พระเขี้ยวแก้วมีขนาดยาวประมาณ 1 นิ้ว เชื่อกันว่าบุคคลต่าง ๆ มองเห็นองค์พระเขี้ยวแก้วมีสีต่างกันไป บ้างเห็นเป็นสีขาวล้วน บ้างเห็นเป็นสีทอง บ้างเห็นเป็นสีขาวหม่น ซึ่งเป็นไปตามกรรมที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล แม้องค์พระบรมสารีริกธาตุจะไม่ใช่สภาวธรรมที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นเครื่องชี้ทางและสะพานให้พุทธศาสนิกชนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาได้ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาตรัสรู้แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สำหรับวัดหลิงกวง ตั้งอยู่บนเชิงเขาทางทิศตะวันออกของเทือกเขาด้านตะวันตกของกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน สัญลักษณ์แห่งปัญญาและแรงบันดาลใจบนเส้นทางธรรม มีชื่อเสียงในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในสถานที่แสวงบุญสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั้งในจีนและต่างประเทศ โดยในปี ค.ศ. 1983 วัดหลิงกวงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัดพุทธสำคัญในพื้นที่วัฒนธรรมจีนฮั่นโดยคณะรัฐมนตรีจีน ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของคณะสงฆ์ซึ่งพุทธสมาคมจีนมอบหมายแต่งตั้ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *