ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ใช่มีแต่ตีโวหารกันสวยหรูแต่ทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง แล้วก็ผลาญเงินภาษีของประชาชนที่ขูดรีดมาแพงๆ จนเป็นอีกต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาติแย่ลงถ้าไม่แก้กันที่ต้นเหตุ ลากกันไปยาวนานจะยิ่งทำให้ชาติยากจนลงเรื่อยๆ ตรงนั้นแหละที่จะกลายเป็นเศรษฐกิจฝืดเคืองถาวร
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ
สิ่งที่ทุกวันนี้เป็นปัญหาทางด้านการตีความที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจในประเทศ ตามความเห็นของแต่ละฝ่ายที่พูดกันแทบจะทุกวัน ตัวอย่างเช่นนักการเมืองบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีควรต้องอัดฉีดเงินลงไป แต่แบงค์ชาติบอกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอัดฉีดเงินลงไปในระบบเพราะเศรษฐกิจของเรากำลังเติบโตขึ้น กลายเป็นความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันจนมองเผินๆเหมือนกับว่าทั้งสองฝ่ายมีปัญหาขัดแย้งกัน แต่พอมองลงไปถึงสภาพของประชาชนในเรื่องของการจับจ่าย จะรับรู้ได้เลยว่าขณะนี้นั้นประชาชนต้องใช้เงินกันแบบประหยัดมัธยัสถ์มาก อะไรที่ไม่มีความจำเป็นจริงจะไม่มีการจับจ่ายใช้สอย อะไรที่ประหยัดได้ก็จะประหยัดกันถึงที่สุด
กลายเป็นมุมมองที่แตกต่างและคิดกันไปคนละมุมจนกลายเป็นความเห็นที่ขัดแย้ง ความเป็นจริงคือเรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องของมุมมองของคนที่อยู่กันคนละฟาก ก่อนอื่นต้องเข้าใจระบบทุนนิยมก่อน ในโลกนี้ใช้เศรษฐกิจใน ระบบทุนนิยมเป็นส่วนใหญ่ หลักเศรษฐศาสตร์ของระบบทุนนิยมคือการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย มุมมองของคนในระบบนี้ จึงมองกันแต่ว่าถ้าจะให้มองว่าเศรษฐกิจดีต้องมีการจับจ่ายใช้สอยกันอย่างเต็มที่ อย่างเช่นกรณีอสังหาริมทรัพย์ต้องขายดี สินค้าต่างๆต้องขายดีจึงจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจดี แต่ถ้าการจับจ่ายใช้สอยฝืดเคืองเขาก็จะพูดกันจนเคยเป็นนิสัยว่านั่นคือช่วงเงินฝืด คนพวกนี้ยืนหยัดอยู่บนความเชื่อแบบชนิดไม่ลืมหูลืมตา กางตำราแล้วกอดตำราอย่างเอาเป็นเอาตาย และเพราะความเชื่อเหล่านี้จึงไม่มีใครที่สามารถมองเห็นความเป็นจริงที่เป็นต้นเหตุที่แท้จริงได้
ความเป็นจริงแล้วการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ก็ไม่ใช่เป็นดัชนีชี้วัดว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี การที่จะบ่งบอกว่าเศรษฐกิจดี ต้องหมายถึงรากฐานของผู้คนในประเทศ มีอาชีพที่มั่นคงมีรายได้ที่แน่นอน แล้วสามารถนำมาใช้จ่ายอย่างไม่ติดขัด อันนั้นจึงเป็นตัวยืนยันว่าเศรษฐกิจดีแน่แท้แล้ว แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะกระตุ้นอย่างไรถ้าไม่สามารถทำให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคงกระตุ้นไปก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะสุดท้ายเงินที่จ่ายออกไปก็จะหมุนไปอยู่ในมือของนายทุน ในขณะที่ประชาชนก็ยังยากจนเหมือนเดิมและถ้ายิ่งทำบ่อยๆ ก็อาจจะเพาะสร้างนิสัยที่ทำให้ไม่ยอมดิ้นรนช่วยตัวเอง กันมากขึ้น และนั่นคือความวิบัติของสังคมของประเทศในระยะยาว
ในฐานะของผู้บริหารประเทศสิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือทำให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคงมีรายจ่ายที่ถูกลง ชีวิตของประชาชนก็จะกลับมาอยู่ดีกินดี และเมื่อประชาชนมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยเองอย่างมั่นคงแล้วก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เศรษฐกิจมั่นคงดีอย่างถาวรตลอดไป เรื่องแบบนี้จึงอยู่ที่กึ๋นของผู้บริหารประเทศ ว่าจะสร้างรายได้ให้ประชาชนอย่างไร จะลดรายจ่ายให้ประชาชนอย่างไร จะให้รายได้ดี ก็คือต้องสนับสนุนในเรื่องของการผลิตให้มีต้นทุนต่ำให้สามารถไปค้าขายแข่งกับสังคมโลกเขาได้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ส่วนภาคเกษตรกรรมก็ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ทำเกษตรแบบก้าวหน้า คือลดต้นทุนแล้วพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรถ้าทำได้แบบนี้ สินค้าเกษตรของเราก็จะเต็มไปด้วยคุณภาพ ที่ประเทศต่างๆต้องการราคาตลอดจนถึงผลผลิตก็จะไม่มีคำว่าล้นตลาด
ที่สำคัญที่สุดก็คือต้องควบคุมนายทุนให้ได้ ต้องดูแลราคาสินค้าให้อยู่บนความถูกต้องและเที่ยงตรง ไม่ปล่อยให้ตั้งราคากันตามใจ ที่สำคัญคือภาครัฐวิสาหกิจทั้งหลาย ที่ตั้งขึ้นมาบนเจตนาที่จะช่วยเหลือประชาชนเป็นหลักควรทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ไม่ใช่กลายเป็นหน่วยงานที่กลับมาขูดรีดประชาชนเพิ่มขึ้น ถ้าสามารถดูแลได้แบบนี้นั่นจึงเป็นวิธีการที่จะบริหารประเทศให้มั่นคงถาวรแล้วทำให้ชาติเจริญงอกงามตลอดไปได้ ถ้าจะให้ เศรษฐกิจของประเทศดีอย่างถาวรก็ต้องทำให้ได้แบบนี้ ประชาชนถึงจะได้อยู่อย่างมั่นคงและมั่งคั่งแท้จริง ไม่ใช่มีแต่ตีโวหารกันสวยหรูแต่ทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง แล้วก็ผลาญเงินภาษีของประชาชนที่ขูดรีดมาแพงๆ จนเป็นอีกต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาติแย่ลงถ้าไม่แก้กันที่ต้นเหตุ ลากกันไปยาวนานจะยิ่งทำให้ชาติยากจนลงเรื่อยๆ ตรงนั้นแหละที่จะกลายเป็นเศรษฐกิจฝืดเคืองถาวร