“ความลำบากไม่เคยฆ่าใคร ความสบายต่างหากที่คร่าคน”ผมคนหนึ่งที่ได้รับคำสอนด้วยคำๆนี้ บทความต่อไปนี้ผมอ่านไม่จบแต่ด้วยความใกล้ชิดท่าน วิทิต ลาวัลย์เสถียร หรือ“เฮียเซ๊ง นักสู้แห่งห้วยยาง” ผมอยู่เขาชากกรูด ใกล้ๆกันแค่ข้ามถนนเท่านั้น ผมรู้ทันทีว่าบทความต่อไปนี้เป็นเรื่องที่น่าติดตาม จากบุคคลที่เดินมาด้วยความยากลำบาก ปลากิโลละ 50 สตางค์-1 บาทยังไม่มีเงินซื้อแต่วันนี้เป็นอย่างไร…..?
ความลำบากไม่เคยฆ่าใครความสบายต่างหากที่คร่าคน
เคยใช้วลีนี้ในการอบรมสั่งสอนผู้ใต้บังคับบัญชามาตลอด เพราะตระหนักด้วยตัวเองว่าในชีวิตการทำงานหนักนั้นมีแต่ให้คุณแต่ไม่ใด้ให้โทษ ที่เชื่อในวลีนี้เพราะตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่ผ่านความยากลำบากมามากมายก่อนจะมาสู่ความสำเร็จ ถึงขนาดที่เคยบอกว่าเคยยากเคยจนมากกว่าใคร แต่กลับไม่ค่อยมีคนยอมเชื่อทุกคนมาเห็นและรู้จักตอนที่เราประสบความสำเร็จแล้ว แต่ไม่เคยสัมผัสช่วงชีวิตที่ยากลำบากในขณะที่เราประสบพบเจอ จึงมองกันแต่ด้านเดียวแล้วเห็นแต่ภาพที่งดงามที่หลุดจากการเคี่ยวกรำมาแล้ว ยิ่งคนที่เห็นเราช่วยเหลือเจือจานผู้อื่นก็ยิ่งรู้สึกแปลก แล้วส่วนใหญ่ก็มักมีข้อสรุปว่านั่นเพราะเรามีมากมายจนเหลือ จึงได้ยินยอมช่วยผู้อื่น จะเชื่อหรือไม่ว่าในยามที่ผมยากจนผมก็ไม่ใช่คนข้นแค้น แต่ผมกลับเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จนเป็นที่ยอมรับของบริวารและผู้คนรอบข้าง และนี่คือเคล็ดลับตัวจริงที่เป็นความสำเร็จ ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่เคยให้ใคร คุณเชื่อหรือว่าทุกอย่างในชีวิตคุณจะราบรื่น จะสำเร็จได้ดังหวังจะมีคนยอมมาทุ่มเทกับคุณ ผมว่าคงยากนะถ้าคนที่ไม่เคยรู้จักให้ใคร แล้วจะได้ความซื่อสัตย์และภักดีจากผู้คนถ้าไม่มีความสัตย์ซื่อและความจงรักภักดีที่คนอื่นมอบให้ คุณจะมีความสำเร็จได้หรือ
ที่วันนี้เอาเรื่องนี้มาเขียนเพราะตอนบ่ายนี้ขับรถออกจากบ้านจะเอารถไปเติมน้ำมันช่วงบ่ายผ่านตลาดเย็น เจอผู้ชายแก่ๆคนหนึ่งที่อายุค่อนข้างมากแกขี่จักรยานพ่วงของที่เหมือนเข่งขยะที่มีน้ำหนักพอสมควร พอรถของเราตามอยู่ข้างหลังเขาก็เป็นกังวลพะว้าพะวังว่าจะเกะกะรถของเราหรือเปล่าเอี้ยวตัวมองข้างหลังตลอด ตอนแรกเราก็ยังไม่รู้สึกแต่พอรู้ว่าเป็นเช่นนั้นก็เลยไม่เข้าไปใกล้ ชะลอช้าๆตามห่างๆเพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องกังวล กลัวเดี๋ยวเขาจะลนลานจนหกล้ม ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่านี่คงเป็นอีกชีวิตหนึ่งที่ยากลำบากพอสมควร เพราะอายุขนาดนี้ ยังต้องมาทำงานที่หนักหนาเช่นนี้ พลันความรู้สึกก็นึกไปถึงชีวิตในวัยที่เป็นวัยรุ่น ตอนที่ผมยังเป็นเด็กหนุ่มทำสวนอยู่ที่บ้านห้วยยาง ตอนนั้นบ้านเราจนมาก เราไม่มีปัญญาซื้อหาอาหารดีๆ จึงต้องเดินจากสวนตอนพักเที่ยงมาดักซื้อปลาที่คนขี่จักรยานมาขาย ต้องมาดักที่ถนนสายซอยที่เข้าไปบ้านห้วยยาง ปลาที่จะมารอซื้อคือปลาข้างเหลืองกิโลละสองสลึง ขนาดปลาโม่งกิโลละบาทเรายังไม่มีปัญญาซื้อเลย แค่ปลาข้างเหลืองก็ทำให้อาหารมีรสชาติขึ้นเยอะแล้ว ทางเลือกของคนจึงเป็นไปตามสถานะ
ที่เล่าเรื่องนี้ไม่ใช่จะพูดถึงความจนที่เคยประสบอยู่แต่จะเล่าถึงคนที่ขี่จักรยานเอาปลามาขายให้เรา คนคนนี้ขี่จักรยานจากบ้านเพ บรรทุกปลาหนึ่งลังแล้วยังต้องมีน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆแช่ปลามาด้วยเพื่อให้ปลานั้นสดคุณว่าเขาขี่จักรยานขายของวันหนึ่งเป็นระยะทางกี่กิโลเมตร ผมลองคำนวณดู จากบ้านเพมาถึงห้วยยางอย่างน้อยก็มี สามสิบกิโลเมตร แล้วยังต้องบรรทุกรังปลาน้ำหนักหลายสิบกิโลกรัมบวกกับน้ำแข็งอีกก้อนใหญ่ๆที่สมัยก่อนเราเรียกเป็นซองนั่นแหละผมว่าน้ำหนักของที่บรรทุกรวมๆกันน่าจะมีประมาณสัก 60-70 กิโลแล้วต้องขี่จักรยานบรรทุกระยะทางไปกลับเกือบร้อยกิโลเมตร คุณว่าชีวิตเขาสุขสบายไหมเล่า แต่สุดท้ายคนๆนี้ก็ประสบความสำเร็จหลังจากนั้นไม่นานผมมาเป็นพ่อค้าซื้อผลไม้ไปขาย ก็ปรากฏว่าโลกกลมเจอเขาคนนั้นชีวิตมีพัฒนาการมากขึ้นจากคนขี่จักรยานขายปลา เขาก็มีปัญญาซื้อรถยนต์แล้วมาวิ่งผลไม้ขายเหมือนกับผมเหมือนกัน เรื่องที่เล่านี้จึงเป็นทฤษฎีตามที่จั่วหัวเอาไว้ว่า ความลำบากไม่เคยฆ่าใครความสบายต่างหากที่คร่าคน ผมจงใจที่จะเขียนคำว่าคร่าคน ผมคิดว่าทุกคนคงเข้าใจนะครับ
ทุกวันนี้เรามีคนที่โลกสวยมากมายเรามีผู้คนที่ใช้ชีวิตกันบนความเปราะบางที่ขาดภูมิคุ้มกันเพราะชีวิตมีแต่คนทำอะไรไว้ให้เต็มไปหมด เรามีผู้คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาแล้วมีหน้าที่ต้องเรียนหนังสือให้จบเพียงอย่างเดียว เรามีพ่อแม่ที่เอาอกเอาใจคอยทำทุกอย่างให้พร้อม ตื่นเช้าก็ยังต้องหุงหาอาหารให้เรากิน กลับบ้านมืดค่ำก็ยังต้องมาหุงหาอาหารให้เรากิน แล้วเราก็มีหน้าที่เป็นลูกทูนหัวที่รู้จักแต่ร้องขอเดี๋ยวขอมอเตอร์ไซค์ เดี๋ยวขอโทรศัพท์มือถือ เดี๋ยวขอเสื้อผ้าแฟชั่นตามสมัย เราเกิดกันมาเป็นลูกอีช่างขอแล้วถ้าขอไม่ได้ เราก็อาจจะมีการชักดิ้นชักงอ หรืออย่างน้อยก็หน้างอ หรือพวกที่หนักหน่อยก็ไปโดดตึกตายบ้าง ไปกินยาตายประชดพ่อแม่บ้างสาเหตุทั้งหมดมาจากอะไรถ้าไม่ใช่เพราะชีวิตมันเปราะบางไม่มีภูมิคุ้มกัน เราไม่เคยรับรู้ว่าชีวิตพ่อแม่ลำบากอย่างไรเราจึงไม่รู้คุณค่าของการใช้ชีวิตเอาเสียเลย นี่คือผู้คนยุคใหม่ที่เราเรียกกันว่ายุคศิวิไลย์แล้ว อย่างน้อยที่ผมได้มีโอกาสมาเขียนข้อเขียนในวันนี้ผมก็มีความสุขเล็กๆ ที่ได้มีโอกาสมาช่วยเป็นปากเสียงแทนคนรุ่นเก่ารุ่นที่พวกคุณเรียกเขาว่ารุ่นไดโนเสาร์เขาเหล่านั้นใช้ชีวิตกันเหมือนเรื่องแปลกมหัศจรรย์ เขาเหล่านั้นทำงานกันหนักหนาสาหัสจนเราคิดว่ามันเป็นไปได้หรือ แต่เราจะไม่ได้ยินคนรุ่นนั้นมานั่งบ่นนั่งร้องว่าเขาลำบาก นั่นเพราะในจิตใจของพวกเขาเหล่านั้นมีความเข้มแข็งมีความรับผิดชอบ
บทสรุปวันนี้ก็คือการได้ขับรถตามหลังคนขี่จักรยานที่ต้องพ่วงของเข่งใหญ่ๆอยู่ข้างท้าย นำพาความคิดให้กลับไปสู่อดีตแล้วได้มีโอกาสยิ้มกับตัวเองถึงวันเวลาเหล่านั้น จนนำมาสู่ข้อเขียนที่เป็นสังคมแห่งความจริงของคนยุคปัจจุบัน แล้วถ้าจะพิจารณาให้มากขึ้น เราจะได้มองเห็นว่าคำว่าน้ำใจของคนรุ่นเก่ามันมีค่ามากมายแค่ไหน แล้วเราก็มองไปถึงสังคมยุคปัจจุบันที่ผู้คนแทบจะเรียกว่าไม่เหลือน้ำใจให้กันแล้ว มันช่างแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน มาถึงตรงนี้เราคงเข้าใจกันได้แล้วว่า ความลำบากไม่เคยทำร้ายคน แล้วยังเป็นต้นเหตุให้ชีวิตสวยงาม ตรงกันข้ามกับความสบายแม่จะดูง่ายได้ง่าย แต่มันคือต้นเหตุแห่งความหายนะ ที่ทำให้ผู้คนกลายเป็นคนที่ไม่รู้คุณค่าอะไรเลยนี่คือข้อสรุป
7 มิถุนายน 2567
ถ่ายทอดโดย วิทิต ลาวัณย์เสถียร
ขอบคุณเจ้าของภาพ